เรียนรู้เรื่องภาษี ประหยัดเงินมหาศาล
ประหยัดภาษีฉบับมนุษย์เงินเดือน ปี 2558 (ค่าลดหย่อนอัพเดทปีต่อปี)
สำหรับมนุษย์เงินเดือนทั่วไป หลายคนคงเคยตกอยู่สถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันคือ เงินช็อต หน้าที่การงานไม่รุ่ง มีปัญหากับนาย ซ้ำร้ายยังมีเรื่องดาวรักดาวเลิกเข้ามาแทรกอีกต่างหาก ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคน…อันนี้ผมขอไม่เข้าไปยุ่ง แต่ถ้าเป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ แล้วล่ะก็ อันนี้พอจะช่วยกันได้บ้าง (ยกเว้นเรื่องยืมเงิน) ด้วยความที่เคยทำงานธนาคารมาก่อน เห็นคนเป็นหนี้มาก็มาก มนุษย์เงินเดือนบางคนไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่าบริษัทหักเงินเราไปจ่ายภาษี สะสมเข้ากองทุนเท่าไหร่ ไม่เคยใส่ใจศึกษา ก้มหน้าก้มตาเสียภาษี แล้วมานั่งบ่นว่าทำไมปีนี้ต้องจ่ายภาษีเพิ่มด้วยล่ะครับ เอาเป็นว่าผมขอใช้ประสบการณ์เท่าที่พอมีอยู่บ้างในฐานะที่เคยทำงานเป็นลูกจ้างกินเงินเดือนเหมือนคนทั่วไป บอกเล่าสู่กันฟังถึงวิธีการในการทำให้มีเงินเหลือเก็บ แถมยังมีหลักประกันมากพอที่จะใช้ชีวิตในวัยก่อนเกษียณได้อย่างสบายๆ ใครอยาก Early Retire ต้องฟังทางนี้ครับ
“ถ้าผมออมได้ คุณก็ต้องทำได้เช่นกันครับ”
บทความนี้จะตอบคำถามคาใจของใครหลายคน ไม่ว่าจะเป็น “เก็บออมเดือนเท่าไหร่ถึงจะพอ?”, “ค่าลดหย่อนภาษีมีอะไรบ้าง?”, “LTF & RMF คืออะไร ใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสินใจเลือกกองทุน?”, “ตกลงแล้วปีนี้ต้องเสียภาษีเท่าไหร่?”, “ทำอย่างไรจึงจะมีอิสรภาพทางการเงิน?”
[อัพเดท ณ วันที่ 24 ธันวาคม 2558]
Disclaimer: บทความนี้เขียนขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2555 พอมีคนแชร์มากเข้า เลยทำให้ผมต้องแวะเข้ามาอัพเดทบทความนี้ทุกปีเพื่อให้ข้อมูลเป็นปัจจุบันมากที่สุด หากมีประเด็นใดที่ไม่ถูกต้องหรือมีคำแนะนำเพิ่มเติม รบกวนช่วยคอมเมนต์กลับมาบอกกันนิดนึงนะครับ ขอบคุณหลายๆ ครับ
คิดได้ก่อน รวยกว่า
ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจกันนิดนึงว่าอะไรคือศัตรูที่ทำให้มนุษย์เงินเดือนทั่วไปใช้ชีวิตแบบหลังชนฝา ปากก็บ่นว่าอยากออกจากงานเพราะเบื่อ แต่จนแล้วจนรอดก็อยู่ยงคงกระพันมานานจนแทบนับปีไม่ถูก ก็เพราะกลัวเงินช็อตนี่เอง ถ้าไม่ถูกหวยรางวัลที่หนึ่ง ถูกบริษัทอื่นซื้อตัวไปด้วยค่าตัวที่สูงขึ้น หรือไม่ก็มีคนมาขอ (แต่งงาน) ไปอยู่บ้านมหาเศรษฐี รับรองว่าอายุขัยในการเดินดินกินข้าวแกงนั้นยังอีกยาวไกล
ถ้าอยากมีชีวิตที่ดีกว่าคนทั่วไป คุณต้องเริ่มเข้าใจเรื่องการวางแผนการใช้ชีวิต และการวางแผนทางการเงิน ณ บัดนาว
วางเป้าหมายในชีวิต
คนทั่วไปใช้ชีวิตไปวันๆ มองแค่ระยะสั้นขอให้แค่มีเงินเหลือในบัญชี บางคนขนาดกินอยู่กับพ่อแม่ พอเงินเดือนออกแล้ว แทนที่จะได้เจียดบางส่วนให้กับบุพการี กลับเอาไปผลาญให้กับวัตถุมงคลทั้งหลายแหล่ ไม่ว่าจะเป็นเทพเจ้าหลุยส์ ตราประดับยศตระกูลแมคอินทอช แล้วอย่างนี้จะเหลืออะไรใช้ในวันข้างหน้า โดยปกติแล้วคนเราควรจะมีเป้าหมายหลักๆ ในชีวิตอยู่ด้วยกัน 3 เรื่อง เรื่องแรกคือการวางแผนเพื่อการเกษียณ, เรื่องที่สองคือการวางแผนการใช้ชีวิตหลังแต่งงาน ซึ่งรวมถึงแผนการศึกษาของบุตรด้วย ส่วนเรื่องที่สามคือการวางแผนเพื่อครอบครองสินทรัพย์ ตั้งแต่ของชิ้นใหญ่สุดคือบ้าน รองลงมาคือรถยนต์ จนมาถึงของใช้ที่จำเป็นทั่วไป ถ้าคุณพอมีคำตอบในใจเกี่ยวกับ 3 เป้าหมายนี้ คุณจะรู้ได้เลยในทันทีว่า เงินและสินทรัพย์ที่มีอยู่ในบัญชี อยู่ห่างจากความฝันในอนาคตมากน้อยขนาดไหน แล้วจะต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งนำไปสู่ประเด็นที่สองนั่นคือ “การวางแผนการออมและการลงทุน”
ก่อนอื่นถ้าคุณอยากรู้ว่าสุขภาพทางการเงินของคุณเป็นอย่างไร ให้ลองทำแบบทดสอบนี้
แผนการออมและการลงทุน
คำถามแรกคือเราควรมีเงินออมเท่าไหร่จึงจะเรียกว่าพอ คำตอบคือต้องมีไม่น้อยกว่าสิบเปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมดแล้วคูณด้วยอายุตัวเองในปัจจุบัน (1/10 x รายได้ทั้งปี x อายุ)
สมมุติว่าขณะนี้คุณมีอายุ 25 ปี ได้เงินเดือนๆ ละ 25,000 บาท ดังนั้นคุณควรมีเงินออมอยู่ในบัญชีไม่น้อยกว่า 750,000 บาท (1/10 x 25,000 x 12 x 25) 10 เปอร์เซ็นต์ดูเหมือนไม่เยอะ แต่เพราะคุณอาจไม่ได้ออมตั้งแต่วัยเยาว์ ย่ิงช่วงวัยเรียนคงไม่ต้องพูดถึง บางคนใช้เงินอย่างเดียว ไม่เคยมีเงินเหลือเก็บ เพราะฉะนั้น เงิน 750,000 จึงเป็นอะไรที่ดูเยอะมากจนน่าตกใจ ผมเดาว่าคนในวัยนี้จะเหลือเงินในบัญชีอยู่แค่หลักหมื่นเท่านั้น (เว้นแต่กรณีที่พ่อแม่แอบใส่เงินเข้าไปในบัญชีให้) ในกรณีที่แย่กว่านั้นคือเหลืออยู่แค่หลักพันบาท น่าสงสารมากแต่ก็ยังไม่ถึงขั้นสายเกินไป เพราะถ้าคุณเริ่มเก็บวันนี้อัตราออมมันยังอยู่แค่ 10% ถ้ารอถึงอายุ 40 อัตราออมจะถูกดันขึ้นมาถึง 20% อายุ 50 ออมสุดๆ 50% อย่าเพิ่งมารู้ตัวตอนแก่เลย มันอาจช๊อคเอาง่ายๆ นะขอบอก
คนฉลาดจะรู้วิธีในการหารายได้เสริม (ซึ่งได้จากการทำงาน และการลงทุน) และรู้วิธีในการลดค่าใช้จ่าย (ฉลาดซื้อ และฉลาดใช้) จะใช้ตัวช่วยหรือเครื่องมือไหนในการทำให้เงินงอกเงย อีกสักครู่เดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง (โปรดอดใจรออีกหนึ่งอึดใจ) ส่วนวิธีการลดค่าใช้จ่ายนั้นเป็นเรื่องของวินัยและทัศนคติในการใช้เงิน คนที่ชอบซื้อของด้วยเงินในอนาคตจากการผ่อนชำระ และคนที่ชอบสร้างหนี้ด้วยการชำระแค่อัตราขั้นต่ำ 10% ของยอดหนี้บัตรเครดิต คนเหล่านี้อยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสภาวะล้มละลายทางการเงิน อย่าว่าจะเหลือเงินออมเลย อาจเป็นหนี้ท่วมหัวด้วยซ้ำ บัตรเครดิตนั้นมีคุณถ้าคุณเป็นคนที่รู้จักซื้อของตามโปรโมชั่น และรับส่วนลดจากสิทธิพิเศษจากร้านค้าและห้างสรรพสินค้า และถ้าเป็นไปได้ควรชำระเงินเต็มจำนวนด้วยการกันเงินสดออกมาต่างหากเพื่อชำระค่าบัตรเครดิตรายเดือน ซึ่งเหมาะกับคนที่มีเงินสะสมเหลือเกินอัตราเงินออม (Surplus) ใครที่รู้ว่าตัวเองไม่ค่อยมีวินัย แนะนำให้ใช้เงินสดหรือเดบิตคาร์ดแทน มีเท่าไหร่ใช้เท่านั้น ใช้มากจะยากนานนะครับ
วางแผนการเสียภาษี
คนชนชั้นกลางเป็นกลุ่มคนที่เสียภาษีมากที่สุด เพราะว่าแหล่งที่มาของรายได้นั้นชัดเจน ตรงไปตรามา เสียภาษีตามขั้นบันไดตั้งแต่ 0% เมื่อมีเงินได้ไม่เกิน 150,000 บาท (ต่อปี) จนถึงขั้นบนสุด 35% เมื่อมีรายได้เกินกว่า 4,000,000 บาท แถมนายจ้างใจดีกลัวเราปวดหัว เลยได้ทำการทยอยหักเงินภาษีเข้ารัฐโดยเราอาจไม่รู้ล่วงหน้าว่าเขาใช้เกณฑ์อะไรในการหัก หน้าที่พลเมืองชั้นดีอย่างเราจึงต้องคอยสืบเสาะหาทางลดหย่อนกันเอาเองตามอัธยาศัย
มีข่าวดีมาบอกครับ ในปี 2557 เป็นต้นไป กรมสรรพากรจะเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราที่ลดลงตามขั้นบันได โดยจะมีอยู่ 4 กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการเรียกเก็บภาษีในอัตราใหม่ ส่วนอีก 4 กลุ่มที่เหลือยังคงเสียภาษีในอัตราเดิม ดังนี้
1. คนที่มีเงินได้สุทธิไม่ถึง 150,000 บาท/ปี จะได้รับการลดหย่อนโดยไม่ต้องเสียภาษีตามเดิม
2. คนที่มีเงินได้สุทธิ 150,001-300,000 บาท/ปี จะเสียภาษีลดลง จากเดิมที่เคยเสียอยู่ 10% ปีนี้เสียแค่ 5%
3. คนที่มีเงินได้สุทธิ 300,001-500,000 บาท/ปี จะเสียภาษีในอัตรา 10% ตามเดิม
4. คนที่มีเงินได้สุทธิ 500,001-750,000 บาท/ปี จะเสียภาษีในอัตรา 15% ลดลงมา 5% จากอัตราเดิม 20%
5. คนที่มีเงินได้สุทธิ 750,001-1,000,000 บาท/ปี จะเสียภาษีในอัตรา 20% ตามเดิม
6. คนที่มีเงินได้สุทธิ 1,000,001-2,000,000 บาท/ปี จะเสียภาษีในอัตรา 25% ลดลงมา 5% จากอัตราเดิมที่ต้องเสียสูงถึง 30%
7. คนที่มีรายได้ 2,000,001-4,000,000 บาท/ปี จะเสียภาษีในอัตรา 30% ตามเดิม
8. คนที่มีรายได้ 4,000,001 ขึ้นไป จะเสียภาษีในอัตรา 35% ลดลงมา 2% จากอัตราเดิม 37%
สมมุติว่าคุณมีรายได้ต่อเดือน 50,000 บาท (600,000 บาทต่อปี หลังจากหักค่าลดหย่อนผู้มีเงินได้ 30,000 บาท คุณจะมีรายได้สุทธิในการคำนวณภาษีอยู่ที่ 570,000 บาท) จากนั้นให้คุณคำนวณการเสียภาษีตามขั้นบันไดดังนี้ครับ 150,000 บาทแรก (0%), 150,001-300,000 บาท (5%=7,500 บาท), 300,001-500,000 (10%=20,000 บาท), 70,000 บาทที่เหลือ (15%=10,500 บาท) รวมแล้วจากฐานเงินเดือนที่ว่า คุณมีหน้าที่เสียภาษีเป็นเงิน (7,500+20,000+10,500=38,000 บาท) หากคุณมีค่าลดหย่อนเพิ่มเติมเช่นซื้อกองทุน LTF เป็นเงิน 70,000 บาท คุณจะประหยัดภาษีไปได้ถึง 10,500 บาท (27.6%) อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องมือในการลดหย่อนภาษีในหัวข้อถัดไป
คลิ๊กที่นี่เพื่อดาวน์โหลดโปรแกรมคำนวณภาษี
- โปรแกรมคำนวณและวางแผนภาษีโดย iTax (ใหม่ล่าสุด)
- โปรแกรมคำนวณภาษีโดย TSI (กรอกข้อมูลบนเวบ)
- โปรแกรมคำนวณภาษีโดยกรมสรรพากร (ดาวน์โหลดผ่าน Thaiware)
- แอพลิเคชั่นคำนวณภาษีบนระบบ Android โดย Pisanu (install ผ่าน Google Play)
- แอพลิเคชั่นคำนวณภาษีบนระบบ iOS โดย Thailand Tax Calculator (Install ผ่าน iTunes)
(ส่วนใครที่ต้องการทำความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อคิดในการออม การวางแผนการเงิน และการลงทุน ผมแนะนำเวบนี้เลยครับ www.aommoney.com หลายๆ Infographic นั้นเข้าใจง่ายดีครับ)
มาประหยัดภาษีกันดีกว่า
สมัยเป็นมนุษย์เงินเดือน ผมเคยเสียภาษีสูงสุดเป็นเงิน XXX บาท นี่ขนาดใช้สิทธิ์ค่าลดหย่อนเต็มอัตราศึกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเงินค่าลดหย่อนจากการเลี้ยงดูบุพการี เงินบริจาค กองทุนรวมทั้ง LTF, RMF, ประกันชีวิต และอื่นๆ อีกมากมายเท่าที่พอจะเสาะแสวงมาลดหย่อนได้ ผมจึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนหันมาทำความเข้าใจกันให้มากเกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงินที่ทำให้คุณประหยัดเงินภาษีไปได้ปีละไม่ใช่น้อย
เคยมีอยู่ปีนึงที่อาจหาญขอเงินคืนภาษีเป็นหลัก XXX บาท งานนี้กรมสรรพากรถึงขั้นต้องขอพิสูจน์หลักฐานกันเลยทีเดียว ทำอย่างไรจึงจะได้เงินคืนภาษีด้วยการใช้สิทธิ์ลดหย่อนอย่างชาญฉลาด หรือว่าเสียภาษีให้สมเหตุสมผลที่สุด ที่นี่มีคำตอบครับ
ทำความรู้จักเกี่ยวกับค่าลดหย่อน
ในเบื้องต้นทุกคนน่าจะทราบกันดีว่ามนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ ต้องยื่นแบบภาษี ภงด. 91 (มีรายได้จากแหล่งเดียว) เว้นแต่คุณเป็นพวกรับจ้างงานทำงานอิสระ มีรายได้เสริม หรือมีนายจ้างมากกว่า 1 แห่ง คุณต้องยื่นแบบภาษี ภงด. 90 สำหรับผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 40% แต่ต้องไม่เกิน 60,000 บาท ทีนี้ลองมาดูในรายละเอียดปลีกย่อยตามแผนภูมิ Mind Map ที่วาดขึ้นมาให้ดูกันง่ายๆ ว่ามีค่าลดหย่อนอะไรบ้างที่คุณสามารถหักได้บ้าง
1. ผู้มีเงินได้: หักลดหย่อนได้ 30,000 บาท โดยถ้วนหน้ากัน (สำหรับพนักงานประจำที่มีรายได้ทางเดียว) แม้มูลค่าจะดูกระจิ๊ดริดไปหน่อย
2. คู่สมรส: หักลดหย่อนได้อีก 30,000 บาท สำหรับคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ หากมีรายได้ ให้หักแยกคำนวณภาษีจะดีกว่า
3. บุตร: หักได้คนละ 15,000 บาท ไม่เกิน 3 คน รวมแล้วไม่เกิน 45,000 บาท, ถ้าศึกษาภายในประเทศได้เพิ่มอีกคนละ 2,000 บาท รวมแล้วเป็นคนละ 17,000 บาท
4. บิดามารดา: หักค่าลดหย่อนในการอุปการะเลี้ยงดูบิดาและมารดาที่มีอายุเกิน 60 ปี ได้คนละ 30,000 บาท (แต่ว่าบิดาและมารดาต้องไม่มีรายได้พึงประเมินในปีภาษีนั้นเกิน 30,000 บาทขึ้นไป) ถ้าในกรณีที่ครอบครัวนั้นมีบุตรมากกว่า 1 คน และในความเป็นจริงต่างคนต่างช่วยกันดูแลบิดามารดาด้วยจำนวนเงินที่มากกว่านั้น ในทางภาษี จะมีบุตรเพียงคนเดียวเท่านั้นที่สามารถหักค่าลดหย่อนของบิดามารดาได้ อันนี้ต้องไปตกลงกันเอาเองระหว่างพี่น้องว่าจะให้โควต้าการลดหย่อนนั้นแก่ใคร
5. เบี้ยประกัน: หักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตได้ตามจริง แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท และต้องเป็นการทำประกันที่มีความคุ้มครองเกิน 10 ปี สำหรับการทำประกันชีวิตแบบบำนาญ ผู้มีเงินได้สามารถซื้อได้เพิ่มเติมอีก 15% ของรายได้พึงประเมิน แต่ต้องไม่เกิน 200,000 บาท หากรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกบข. แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท หากเป็นการซื้อประกันสุขภาพให้กับบิดามารดา หักลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกินคนละ 15,000 บาทเช่นกัน
6. เงินสะสม: ส่วนใหญ่เป็นการหักลดหย่อนจากการซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่สามารถซื้อและหักได้ตามจริง แต่ต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และยอดรวมไม่เกิน 500,000 บาท ส่วนการหักลดหย่อนจากการซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ก็คล้ายกันคือ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และยอดทั้งหมดเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) และกบข. จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท (สรุปว่าเงินได้อื่นๆ ที่ได้รับการยกเว้นภาษีอยู่แล้วไม่สามารถนำมาคำนวณได้เหมือนปีที่ผ่านมา อยากทราบว่าเงินได้ประเภทไหนบ้างที่ได้รับการยกเว้นภาษี ตรวจสอบได้ที่นี่ครับ)
7. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม: หักลดหย่อนได้เฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย (ไม่ใช่เงินต้น) โดยมูลค่าต้องไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งโดยปกติแล้วสถาบันการเงินจะเป็นผู้สรุปยอดเงินที่เราจ่ายจริงในช่วงปีที่ผ่านมา
8. ประกันสังคม: หักลดหย่อนตามจำนวนเงินที่บริษัทหรือนายจ้างหักไว้เพื่อเข้ากองทุนฯ อันนี้นายจ้างปกติก็จะทำสรุปมาให้ว่าระหว่างปีได้ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนไปแล้วเท่าไหร่
9. เงินสนับสนุนเพื่อการศึกษา: หักลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินคงเหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว (หมายเหตุ: ในกรณีที่บริจาคให้กับสถาบันการศึกษา ให้ตรวจสอบว่าสถานที่บริจาคนั้นมีอยู่ในบัญชีรายชื่อสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศกำหนดหรือไม่==> คลิ๊กตรวจสอบรายชื่อได้ที่นี่ ไม่เพียงเท่านั้นการบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ เพื่อการจัดหา จัดสร้างอาคาร วัสดุอุปกรณ์ และครู อาจารย์เท่านั้น==> ตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับประกาศกระทรวงได้ที่นี่)
10. เงินบริจาค: สามารถหักลดหย่อนเงินบริจาคได้ตามจริง แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินคงเหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว
[เพิ่มเติม อัพเดท ณ วันที่ 20 ต.ค. 2557]
11. การท่องเที่ยวภายในประเทศ: ค่าลดหย่อนภาษีทางการท่องเที่ยวให้กับบุคคลธรรมดา ในวงเงินไม่เกิน 15,000 บาท มีผลบังคับใช้ไปจนถึงปลายปี 2558 (ติดตามรายละเอียดจากข่าวนี้ครับ) หลักฐานที่ใช้ในการหักค่าลดหย่อน คือเอกสารที่เป็นการยืนยันว่าเราได้ชำระเงินให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว หรือโรงแรมที่พัก เช่น ใบกำกับภาษี ใบเสร็จรับเงิน ที่ระบุชื่อของเรา วัน/เดือน/ปี ที่ใช้บริการ ยอดเงิน (ตรวจสอบรายชื่อ ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวได้ที่นี่, ตรวจสอบรายชื่อ ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ที่เราสามารถหักค่าลดหย่อนได้ที่นี่)
[เพิ่มเติม อัพเดท ณ วันที่ 24 ธ.ค. 2558]
12. การซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศ: ครม.เพิ่งจะไฟเขียวอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยบุคคลธรรมดาสามารถนำมาใช้เป็นค่าลดหย่อนจากการจับจ่ายซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบกิจการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มระหว่างวันที่ 25-31 ธ.ค.ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้ไม่รวมถึงการซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ น้ำมัน และก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ รวมทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่ารักษาพยาบาล บัตรของขวัญ และค่าตั๋วเครื่องบิน โดยผู้มีเงินได้จะต้องมีหลักฐานการซื้อสินค้าเป็นใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ (อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการนี้ได้ตามลิงค์นี้ครับ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี 2558)
ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับค่าลดหย่อนในแต่ละประเภทได้จากเวบไซต์ของกรมสรรพากร (http://www.rd.go.th)
เมื่อรู้แล้วว่าค่าลดหย่อนของแต่ละท่านมีอะไรบ้าง ถึงเวลาที่มาลองนั่งคำนวณดูว่า ตามมาตรการเก็บภาษีแบบใหม่ เราเสียภาษีมากขึ้นหรือน้อยลง ให้ลองกรอกข้อมูลตามลิงค์นี้ครับ รื้อค่าลดหย่อน คุณจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นหรือน้อยลง โดย ThaiPublica
กรณีศึกษา: พลาดมาก่อน จึงมาบอกเล่าสู่กันฟัง
ถ้าคุณอ่านมาถึงจุดนี้แล้ว ยังไม่เข้าใจว่าอะไรบ้างที่สามารถนำมาใช้เป็นลดหย่อนได้บ้างไม่ได้บ้าง คงต้องแนะนำให้หาบทความอื่นมาอ่านเสริมเพิ่มเติม ผมขอใช้พื้นที่ตรงนี้จำลองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เผื่อว่าใครเกิดเข้าข่ายอย่างว่า จะได้ร้องอ๋อ ไม่ต้องกรอกแบบฟอร์มภาษีผิดๆ ถูกๆ นี่คือ 5 ข้อผิดพลาดที่อาจทำให้คุณต้องโดนเรียกชำระภาษีเพิ่มเติม
1) พ่อ/แม่แอบหนีไปมีรายได้
เป็นที่รู้กันอยู่ว่า ค่าลดหย่อนสำหรับลูกกตัญญูนั้นหักได้เพียง 30,000 บาทเท่านั้น แม้ในความเป็นจริงคุณจะให้เงินคุณพ่อ/คุณแม่มากกว่านั้นก็ตามที ประเด็นมีอยู่ว่าพ่อแม่ที่ไม่ได้มีรายได้จากการทำงานประจำบางคนดันแอบไปมีรายได้ทางอื่นโดยที่เราไม่รู้ เช่นรายได้จากการให้เช่าบ้าน เงินปันผลที่ได้มาจากการเล่นหุ้น ฯลฯ แล้วคุณรู้หรือไม่ว่าผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 65 ปีขึ้นไป สามารถเลือกใช้สิทธิ์ในการยกเว้นเงินได้จำนวน 190,000 บาท ในหลากหลายรูปแบบ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ) ถ้าคุณพ่อคุณแม่ของคุณดันเข้าข่ายนี้ขึ้นมา คุณลูกทั้งหลายครับ ขอแสดงความเสียใจด้วย คุณไม่สามารถหักค่าลดหย่อนในการเลี้ยงดูบิดา/มารดาในปีนั้นได้นะครับ สรรพากรเขารู้นะว่าคุณพ่อคุณแม่ใครร่ำรวยผิดปกติ
2) จ่ายเบี้ยประกันปีไหน ลดหย่อนได้แค่ปีนั้น
มีบางคนเข้าใจผิดว่าซื้อประกันครั้งเดียว สามารถใช้หักค่าลดหย่อนตลอดอายุกรมธรรม์ ไม่ใช่นะครับ เขาเพียงระบุว่าประกันชีวิตที่ใช้ลดหย่อนได้ต้องเป็นประกันระยะยาวแบบ 10 ปีขึ้นไป ทีนี้มีบางเจ้าเหมือนกันที่เขาออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันออกมาชนิดที่จ่าย 5 ปี 7 ปี แล้วคุ้มครองไป 10-15 ปี นั่นหมายความว่าคุณชำระค่าเบี้ยเพียง 5 ปีหรือ 7 ปีเพื่อได้รับความคุ้มครองยาวนานเกินกว่า 10 ปีและ 15 ปี ในความเป็นจริงคือคุณชำระค่าเบี้ยปีไหนก็สามารถเอาเบี้ยประกันมาหักลดหย่อนได้เฉพาะปีนั้น เกิดคุณชำระค่าเบี้ยครบตามจำนวนแล้ว 5 ปี ปีต่อไปไม่ได้ชำระแล้ว นั่นหมายความว่าคุณจะนำมาลดหย่อนต่อไม่ได้ ไม่งั้นคุณต้องซื้อกรมธรรม์ตัวใหม่เพิ่มเติม เข้าใจตรงกันนะ
3) เงื่อนไขของ LTF/RMF ที่เปลี่ยนไป
มีข่าวลือออกมาหนาหูว่าก่อนหน้านี้ว่าเขาจะยกเลิก LTF/RMF มนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ นี่มีร้องไห้โฮเลยนะ เพราะสำหรับบางคนเงินก้อนนี้คือเงินที่ใช้หักค่าลดหย่อนที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด ตอนนี้ดีใจได้ละ เขายังไม่ยกเลิกนะฮะ เพียงแต่ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขเล็กน้อย จากที่สามารถซื้อได้ 15% จากรายได้รวมทั้งหมด เป็น 15% จากรายได้ที่พึงต้องเสียภาษี นั่นหมายความว่ารายได้อันไหนที่ได้รับการยกเว้นอยู่แล้ว ไม่สามารถนำมาใช้เป็นฐานในการคำนวณได้ เงินได้ที่ว่านี้ได้แก่ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเดินทาง ค่าตำแหน่ง เบี้ยประชุม ดอกเบี้ยจากสลากออมสิน เป็นต้น
4) บริจาคยังไง ถึงได้หักค่าลดหย่อน 2 เท่า
มีหลายคนยังคงเข้าใจว่าเงินบริจาคเพื่อการศึกษาทุกชนิดสามารถหักลดหย่อนได้ 2 เท่า ไม่ใช่นะครับ การมอบทุนการศึกษา หรือสนับสนุนกิจกรรมทางการศึกษาบางรายการไม่เข้าข่ายที่สรรพากรกำหนด คือในใบเสร็จรับเงินจะต้องออกโดยสถาบันการศึกษาที่สรรพากรขึ้นทะเบียนให้เท่านั้น แถมยังต้องระบุวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนว่าเงินบริจาคนั้นเป็นไปเพื่อการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ สร้างตึกอาคารเรียน ตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับประกาศกระทรวงได้ที่นี่ครับ
5) ร้องไห้หนักมากเมื่อสรรพากรเรียกพบ
สำหรับบุคคลธรรมดาทั่วไป สรรพากรจะขอเรียกพบใน 3 กรณีคือ 1) กรอกแบบฟอร์มผิด ส่งหลักฐานให้ไม่ครบ 2) อาจหาญเรียกเงินภาษีคืนแบบว่าเยอะผิดสังเกต 3) ตรวจสอบพบในภายหลังว่ามีบางรายการไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้จริง ใน 2 กรณีแรกคงไม่ต้องอธิบายอะไรกันมากมาย เมื่อไหร่ที่เจ้าหน้าที่สุ่มตรวจแล้วพบว่า ภงด.90/91 ที่คุณยื่นไปมีปัญหา เขาก็แค่เรียกมาปรับทัศนคติกันเล็กน้อย แต่ในกรณีที่ 3 นี่แสบมาก เพราะเขาไม่ได้เอะใจจนกระทั่งเวลาผ่านไปได้หลายเดือนแล้วค่อยแจ้งว่าคุณหักค่าลดหย่อนสูงเกินจริง หรือไม่สามารถนำมาใช้ได้ นั่นหมายความว่าคุณอาจโดนภาษีย้อนหลังพร้อมดอกเบี้ยที่คิดตามจำนวนเดือนที่ผ่านมา โดนมาแล้วครับ ตกใจตื่นเมื่อรู้ว่าดอกเบี้ยแพงเกือบจะทบต้น เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าควรอ่านบทความนี้หลายๆ รอบ กรอกแบบฟอร์มภาษีให้ถูกต้อง เพราะถ้าคุณโดนสรรพากรทวงเงินคืนล่ะก็ เตรียมร้องจ๊ากได้เลย แต่ถ้าคุณริอ่านขอเงินภาษีคืน บางทีคุณอาจต้องร้องเพลงรอต่อไปเรื่อยๆ แบบไม่มีกำหนด (ดอกเบี้ยไม่มีให้นะจ๊ะ อยากได้จริงต้องกล้าทวง ได้หรือไม่ได้ก็อีกเรื่อง)
ทำความรู้จักกับ LTF และ RMF
สำหรับมือใหม่เพิ่งหัดลงทุน ผมแนะนำให้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อกองทุนรวมให้ดี เพราะทั้งกองทุนรวมหุ้นระยะยาว LTF (Long-term Equity Fund) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF (Retirement Mutual Fund) ถือเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยคุณประหยัดภาษีได้อันดับต้นๆ เลยทีเดียว ถ้าคุณเป็นคนที่มีฐานเงินเดือนสูงติดเพดานบน ปีๆ นึงคุณสามารถหักค่าลดหย่อนได้สูงถึง 1 ล้านบาทเลยทีเดียว เรียกได้ว่ายังไม่ทันดูผลประกอบการของกองทุน คุณก็ประหยัดภาษีไปได้มากโขแล้ว
เวบไซต์ Thailand Securities Institute ได้รวบรวมเนื้อหาเกี่ยวกับ LTF และ RMF ไว้โดยละเอียดตั้งแต่
- คำนิยามแบบเจาะลึกลักษณะของ LTF
- คำนิยามแบบเจาะลึกของ RMF
- ตารางเปรียบเทียบการลงทุนแบบ LTF และ RMF
- LTF และ RMF ประหยัดภาษีอย่างไร
เพื่อทำความเข้าใจกันแบบง่ายๆ ผมขอสรุปโดยย่ออย่างนี้ละกันครับ ถ้าเป้าหมายการลงทุนของคุณเป็นแบบระยะสั้น ให้เน้นซื้อ LTF ซื้อให้เต็มพิกัดเลยถ้าเป็นไปได้ คุณสามารถขายคืนได้ใน 5 ปีปฏิทิน (หมายเหตุ: เงื่อนไขการขายอาจมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในปีหน้า โปรดติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด) เช่นซื้อเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 คุณสามารถขายคืนได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 แต่ถ้าคุณมีเป้าหมายในการสะสมทรัพย์เพื่อการเกษียณอายุ ให้เลือกซื้อ RMF หรือประกันชีวิตแบบบำนาญ (รายละเอียดดูในหัวข้อถัดไป) แม้กำหนดเวลาในการขายคืนจะยาวนานจนถึงตอนคุณอายุ 55 ปีขึ้นไป แต่เมื่อถึงเวลานั้นแล้ว คุณจะได้เงินก้อนหรือเงินงวดไปใช้แบบไร้กังวล เหมาะมากสำหรับคนที่ต้องการความมั่นคงในวัยที่หมดแรงทำงานมาถึงความยากที่สุดในการตัดสินใจลงทุน นั่นคือการเลือกช้อปกองทุนนั่นเอง โดยส่วนตัวผมจะใช้ปัจจัยทั้ง 5 ข้อนี้ในการเลือกซื้อกองทุนของแต่ละสถาบัน ปกติเรื่องแบบนี้เขาห้ามชี้ชวนครับ มันขึ้นอยู่กับสไตล์การลงทุนของแต่ละบุคคลด้วย ทางที่ดีควรอ่านบทวิเคราะห์จากหลายๆ แหล่งประกอบกัน (โปรดใช้วิจารณญาณก่อนวู่วามลงทุนโดยไม่ศึกษาข้อมูลให้ดี)
1. Credibility ให้ดูที่ความมั่นคงและชื่อเสียงของบริษัทจัดการกองทุน (ตรวจสอบรายชื่อได้ที่สมาคมบริษัทจัดการลงทุน) บางกองอาจให้ผลตอบแทนสูงก็จริง แต่ถ้าบริษัทนั้นมีความเสี่ยงต่อการถูกเทคโอเวอร์หรือเปลี่ยนทีมผู้บริหารจัดการกองทุนก็ให้ระวังกันนิดนึงนะครับ (ปัจจัยหลังอาจมีผลกระทบต่อ Fund Performance ในอนาคตเหมือนกัน)
2. Convenience เน้นความสะดวกในการซื้อขายและติดต่อเจ้าหน้าที่ (ในกรณีนี้ธนาคารพาณิชย์ที่มีสาขาเยอะจะได้เปรียบ) หากการซื้อขายมันวุ่นวายมาก แถมทำธุรกรรมบนออนไลน์ไม่ค่อยสะดวกด้วย อันนี้ไม่ค่อยแนะนำสำหรับมือใหม่เพิ่งหัดเล่น แต่สำหรับมือเก๋านี่เลือกเอาที่ชอบที่ชอบเลยครับ
3. Rik Profile นโยบายในการลงทุนสอดคล้องกับความเสี่ยงที่เรารับได้ (กองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้เป็นหลักจะมีความเสี่ยงต่ำ กองทุนที่ลงทุนในตราสารทุนเป็นหลักจะมีความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนส่วนมากก็จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน อ่านวิธี การจัดพอร์ตการลงทุนที่นี่ หรือ จะลองทำแบบทดสอบดูก่อนว่า คุณยอมรับความเสี่ยงได้มากแค่ไหน)
4. Size ขนาดมีความสำคัญ ให้ดูที่ขนาดของกองทุน (ยิ่งกองไหนมี Market Capitalization หรือมูลค่าตามตลาดสูง ยิ่งถือได้ว่าเป็นกองทุนยอดนิยม มีคนจำนวนไม่น้อยเลือกซื้อกองประเภทนี้ ถือว่าเราคือคนส่วนมาก) โดยมากกองทุนที่มีขนาดใหญ่จะมีอายุขัยยาวนานกว่ากองทุนขนาดเล็กที่เน้นผลตอบแทนในระยะสั้น
5. Past Performance บทพิสูจน์ฝีมือของบริษัทจัดการกองทุนคือผลการดำเนินงานย้อนหลัง ดูได้จากมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ หรือ NAV (Net Asset Value) ย้อนหลัง (ยิ่ง Return Rate เปอร์เซ็นต์สูงๆ แสดงว่า บลจ. นั้นบริหารพอร์ตดูดีมีกำไร) ในบรรดาทั้ง 5 ข้อนี้ โดยส่วนตัวจะให้น้ำหนักข้อนี้มากที่สุด เรียกได้ว่าขอดูที่ผลงานเป็นหลัก ปัจจัยอื่นคือส่วนเสริม
ส่วนถ้าใครอยากวิเคราะห์เจาะลึกผลการดำเนินงานของกองทุนแต่ละประเภท ลองเข้าไปดึงข้อมูลด้วยตัวเองจากเวบ www.morningstarthailand.com ครับ
ผมลองดึงข้อมูลขึ้นมาให้ดูทั้ง 2 ประเภทว่า กองไหนเด็ดจากการจัดอันดับของ Morning Star Thailand เห็นได้ว่าติดลบกันระนาวสำหรับปีนี้ (2558) คิดซะว่าเป็นการลงทุนระยะยาว คือได้เก็บยาวเลย อย่าหวั่นแม้วันแดงเถือก
ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity) กับ RMF ต่างกันอย่างไร
การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นการเพิ่มเติมค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตที่มีอยู่แล้วตามปกติ 100,000 บาท เพิ่มขึ้นอีก 200,000 บาท ซึ่งวงเงินที่เพิ่มขึ้นต้องไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน แต่เมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. แล้วจะต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในปีภาษีเดียวกัน
แม้ว่า Annuity กับ RMF จะตอบวัตถุประสงค์เดียวกันคือการสะสมทรัพย์เพื่อการเกษียณ แต่ก็ยังมีความต่างในบางประเด็นที่น่าสนใจก็คือ
- ด้านการคุ้มครอง: ในกรณีที่เสียชีวิตก่อนครบกำหนดอายุ RMF จะไม่มีการคุ้มครอง แต่ว่าประกันแบบบำนาญมีการคุ้มครองตามมูลค่าปัจจุบันของเงินบำนาญจนกระทั่งครบระยะเวลาที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
- การรับรายได้ยามเกษียณ: ผู้ซื้อกองทุน RMF จะรับเป็นเงินก้อนเดียวเมื่อถือครบ 55 ปี ในขณะที่ผู้ซื้อประกันแบบบำนาญจะได้รับเงินบำนาญประจำปี ยาวนานถึง 26 งวด
- อัตราผลตอบแทน: RMF มีโอกาสให้ผลตอบแทนในอัตราที่สูงหรือต่ำกว่าเกณฑ์ขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารจัดการกองทุนของ บลจ. ในขณะที่ประกันแบบบำนาญให้อัตราผลตอบแทนที่แน่นอน
- ความสามารถในการสร้างรายได้: RMF เหมาะกับคนที่มีรายได้ไม่แน่นอน เพราะผู้ลงทุนสามารถกำหนดมูลค่าการลงทุนในแต่ละปีได้ ในขณะที่ประกันแบบบำนาญเหมาะสำหรับผู้มีรายได้ที่แน่นอน แต่ว่าสามารถเลือกชำระครั้งเดียวในระหว่างอายุ 55 ถึง 65 ปี
ท่านที่สนใจดูรายละเอียดเกี่ยวกับประกันแบบบำนาญ ลองเข้าไปเช็คข้อมูลในเวบไซต์ AIA ก็ได้ครับ มีทั้งแบบ เอไอเอบำนาญ 60/85 และ เอไอเอ บำนาญมั่นคง นอกจากนี้ก็ยังมี Pro Annuity A90/A60 ของค่ายกสิกรไทย, ธนชาติบำนาญ 85/60, ออมสินบำนาญ 90/60 ฯลฯ
ทีนี้ลองมาดูรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไข และการคำนวณว่า เราสามารถซื้อประกันแบบบำนาญเท่าไหร่ เพื่อไม่ให้เกินสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษี พร้อมตัวอย่างในการคำนวณทั้ง 4 แบบ (คลิ๊กได้ที่ลิงค์นี้เลยครับ)
การเลือกซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิต
การประกันชีวิตถือเป็นเครื่องมือทางการเงินอีกตัวหนึ่งที่ทำให้คุณประหยัดภาษีในแต่ละปีไม่ใช่น้อย เมื่อก่อนเขาอนุญาตให้ทำประกันในวงเงินแค่ 50,000 บาท พอปรับขึ้นมาเป็น 100,000 บาท มนุษย์เงินเดือนอย่างเราก็มีเฮ เพราะการทำประกันชีวิตนอกจากจะทำให้หักค่าลดหย่อนทางภาษีได้แล้ว ยังเป็นการสร้างวินัยทางการเงินให้เราสำรองเงินเก็บไว้ใช้ในระยะยาวอย่างน้อยก็เป็น 10 ปี และที่สำคัญสิ่งที่แถมมากับประกันคือความคุ้มครองในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ หรือเสียชีวิต เงินทุนประกันจะเป็นเกาะคุ้มกันให้คนข้างหลังไม่ต้องเดือดร้อน ผมเริ่มซื้อประกันฉบับแรกแบบคุ้มครองนานถึง 20 ปี (เลือกแบบสะสมทรัพย์) เผลอแผล็บเดียวสะสมทุนไปแล้วเกือบครึ่งล้าน อีกครึ่งทางเท่านั้นก็จะได้เงินก้อนใหญ่กลับมาตอนอายุ 50 ปี นอกจากนี้ผมยังมีกรมธรรม์ฉบับย่อยที่ซื้อแบบจ่าย 5-7 ปี แต่ว่าคุ้มครองนานถึง 10 ปี ทุกวันนี้ผมใช้วงเงินประกันเต็มพิกัด 100,000 บาท เพราะมันเหมือนว่าเรากันเงินก้อนนี้ออกไปต่างหากเผื่อเอาใช้ในวันที่เราหยุดทำงาน และผมเชื่อแน่ว่าอีกไม่เกิน 10 ปี ผมจะมีเงินสำรองไว้ใช้ไม่พอเพียงต่อการเกษียณแน่นอน นี่แหละที่เขาเรียกว่า “กระปุกออมสินตัวโต” สะสมวันนี้เพื่อสบายในวันหน้าครับ
ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตเดี๋ยวนี้มีให้เลือกหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นแบบประกันชีวิตตลอดชีพ ชำระแบบ 15 ปี 20 ปี เลือกแบบมีปันผล หรือแบบไม่ปันผล แบบกำหนดระยะเวลา ฯลฯ คือตัวแทนเขาสามารถ customize ให้ตรงกับไลฟสไตล์เรามากที่สุด ถ้าจะให้แนะนำว่าควรทำกับประกันเจ้าไหนดี ผมแนะนำให้เลือกบริษัทที่มีความมั่นคง และที่สำคัญเลือกทำกับตัวแทนที่เขายินดีสละเวลาอธิบายเพื่อเลือกกรมธรรม์ที่เหมาะกับเรามากที่สุด อย่าลืมนะครับว่าคุณต้องใช้บริการกับเขานานนับสิบปี ฉะนั้นต้องเลือกคนดีที่ไม่ปลิ้นปล้อน อัธยาศัยดี และบริการเอาใจใส่ คลิ๊กรายละเอียดเกี่ยวกับบริษัทประกันชีวิตได้ตามลิงค์ด้านล่างนี้ครับ
- บริษัท อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด
- บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
- บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
- บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
- สมาคมประกันชีวิตไทย
ที่นี่มีคำตอบ ไขสงสัยเรื่อง LTF, RMF
หลังจากอ่านข้อมูลละเอียดถี่ยิบขนาดนี้ ก็ไม่รู้ว่าทำให้คุณเข้าใจได้มากขึ้นรึเปล่า แต่ถ้ายังสงสัยอีกล่ะก็ ผมขอทำนายด้วยการถามเอง ตอบเอง ดังนี้ครับ
เราควรซื้อ LTF และ RMF ช่วงไหน ถึงจะได้กำไรสูงสุด?
ถ้าไม่ได้เกิดเหตุการณ์รุนแรง โดยปกติแล้วกองทุนจะมีผลประกอบการดีในช่วงปลายปี นั่นหมายความว่าราคาต่อหน่วยจะแพงขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าเป็นไปได้แนะนำให้แบ่งซื้อเป็นช่วงๆ แบบกระจายความเสี่ยง อย่าเก็งจนกระทั่งใกล้วันส่งท้ายปีเก่า โดยทั่วไปทั่วไปคนมักจะมาแห่แหนซื้อ LTF และ RMF เอาตอนปลายปี ด้วยเหตุผลง่ายๆ 2 ประการคือ หนึ่งไม่มีเวลาหรือลืม และอีกเหตุผลคือ บลจ. ทั้งหลายชอบจัดงานโรดโชว์โค้งสุดท้ายตอนปลายปีพอดี คือถ้ามันวุ่ยวายมากและไม่มีเวลาติดตามผลประกอบการของแต่ละกองทุน แนะนำให้ซื้อเป็นแบบ Saving Plan ไปเลยครับ คือการซื้อแบบสะสมเป็นแบบรายเดือน อย่าห่วงมากนักกับการได้ของแถมของแจก เน้นที่ผลงานการบริการกองทุนจะดีกว่านะครับ
จะรู้ได้อย่างไรว่า LTF, RMF, ประกันชีวิตทั่วไป และ ประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่เราซื้อไปมันจะไม่ติดลิมิต?
ถ้าอยากรู้ว่าเราสามารถซื้อ LTF, RMF และผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตได้สูงสุดเท่าไหร่ ให้เริ่มจากการประเมินรายได้(ที่พึงเสียภาษี)ตลอดทั้งปี คูณด้วยอัตราค่าลดหย่อน มูลค่าที่ได้จะต้องไม่เกินเพดานที่ระบุไว้ในข้อกำหนดของกรมสรรพากรที่ได้อธิบายไปแล้วก่อนหน้านี้ ลองดูตัวอย่างการคำนวณ หรือใช้ โปรแกรมวางแผนประหยัดภาษี ด้วยการกรอกตัวเลขเข้าไปดู แล้วคุณจะพอรู้ว่าคร่าว ๆ ว่าอัตราสูงสุดที่คุณสามารถซื้อได้เป็นเท่าไหร่ (ดูรายละเอียดใน Section ถัดไป) สมมุติว่าคุณมีรายได้ทั้งปีอยู่ที่ 600,000 บาท (เงินเดือน 50,000 บาท) คุณจะซื้อ LTF ได้ไม่เกิน 90,000 บาท (15% ของ 600,000 บาท) RMF ก็คล้ายกัน แต่ต้องหักเงิน กบข. หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกไปก่อน เช่น บริษัทเก็บเงินสะสมเข้า Provident Fund ให้เราอยู่ที่ 30,000 บาท (5% ของเงินเดือน) คุณจะซื้อ RMF ได้ไม่เกิน 60,000 บาท (90,000-30,000 บาท) ส่วนประกันชีวิตนั้นซื้อได้ไม่เกิน 100,000 บาทครับ ส่วนการการซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญให้คำนวณจากโควต้าของ RMF+กบข.+Provident Fund รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 15% ของรายได้ที่พึงเสียภาษี และมูลค่ารวมไม่เกิน 500,000 บาท
คนเงินเดือนน้อยๆ จำเป็นต้องซื้อประกัน, LTF และ RMF หรือไม่?
คนฐานรายได้น้อยๆ มักจะได้รับประโยชน์ในการประหยัดภาษีในอัตราที่น้อยกว่าคนฐานรายได้สูงก็จริง โดยเฉพาะกับคนที่มีรายได้ต่อปีไม่ถึง 150,000 บาท (คนกลุ่มนี้เข้าข่ายไม่ต้องจ่ายภาษีอยู่แล้ว) แต่ถ้ามองในมุมของความคุ้มครองและการเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ ผมก็ยังเชียร์ให้ซื้อประกันไว้บ้างเพื่อเป็นหลักประกันสำหรับอนาคตที่ไม่แน่นอน โดยเฉลี่ยแล้วผลตอบแทนที่ได้รับจากการซื้อกองทุนก็ยังสูงกว่าการฝากเงินอยู่ในบัญชีออมทรัพย์เป็นไหนๆ รู้อย่างนี้แล้วควรเอาเงินเย็นที่เก็บไว้อยู่นิ่งๆ ออกมาลงทุนให้มันผลิดอกออกผลจะดีกว่านะครับ สรุปว่าซื้อเถอะครับถ้ามีเงินเหลือ
เสียภาษีผ่านช่องใดสะดวกที่สุด แล้วควรยื่นตั้งแต่เมื่อไหร่?
ผมแนะนำให้ยื่นแบบออนไลน์ผ่านเวบไซต์ของกรมสรรพากรแต่เนิ่น ๆ เพราะว่าสะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องไปต่อคิวที่สำนักงานพื้นที่สาขาให้เมื่อยตุ้ม และที่สำคัญถ้าคุณคำนวณภาษี และกรอกข้อมูลได้ถูกต้องเป๊ะ เข้าข่ายเป็นบุคคลที่ไม่ต้องสงสัย (เพราะไม่ได้เรียกภาษีคืนมากจนผิดสังเกต) คุณจะได้รับเช็คภาษีคืนด้วยความรวดเร็ว โดยไม่ต้องยื่นเอกสารใดๆ เพิ่มเติม แต่ถ้าคุณยื่นแบบช้า แถมข้อมูลไม่ตรงกับระบบข้อมูลของกรมสรรพากร คุณอาจได้รับแจ๊คพ็อตให้นำเอกสารทั้งหมดไปยื่นด้วยตัวเองที่สำนักงานพื้นที่ ในกรณีนี้ คุณอาจได้รับเงินคืนช้า ซ้ำร้ายหากคุณหักค่าลดหย่อนเกินจริง อาจจะต้องจ่ายภาษีเพิ่มเข้าไปอีกหนึ่งกระทง คุณสามารถยื่นแบบได้ตั้งแต่ 1 มกราคม แต่ไม่เกิน 8 เมษายนนะครับ (คลิ๊กที่นี่เพื่อยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา)
เครื่องมือคำนวณภาษีและตรวจเช็คสุขภาพทางการเงิน
ผมทดลองใช้เครื่องมือทางการเงินจากหลายๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นเวบของสรรพากรเอง สถาบันการเงิน และสมาคมต่างๆ แต่ที่ติดใจเป็นพิเศษ เห็นจะมีของ 3 เจ้านี้ คือ TSI Financial Tools, K-Expert ของ KBank แล้วก็ AIA Online Advisor ลองมาดูทีละอันกันครับ
ในเวบไซต์ของ TSI จะมีเครื่องมือช่วยคำนวณสถานะทางการเงิน และการวางแผนประหยัดภาษีที่หลากหลาย ผมได้แนบลิงค์ที่น่าสนใจไว้ให้แล้ว คลิ๊กเข้าไปลองทำแบบทดสอบได้เลยครับ แล้วคุณจะรู้ว่าสุขภาพการเงินของคุณตอนนี้มันย่ำแย่ หรือว่ามันดีกว่าที่คุณคิด
- โปรแกรมตรวจสอบสถานะการเงินของคุณ
- ออมเท่าไหร่จึงพอใช้ยามเกษียณ
- โปรแกรมวางแผนประหยัดภาษี
- มหัศจรรย์หมายเลข 72 (การคำนวณอัตราผลตอบแทนที่คุณควรจะได้รับหากต้องการให้เงินของคุณเพิ่มเป็น 2 เท่าภายในระยะเวลาที่กำหนด)
ในเวบของ K-Expert คล้ายๆ กับของ TSI คือเขามี Tools ที่เรียกว่า Financial Plan เป็นโปรแกรมคำนวณตรวจสอบสุขภาพทางการเงิน วางแผนภาษี วางแผนการลงทุน และเครื่องมือแบบทดสอบต่างๆ) ที่น่าสนใจคือคุณสามารถดาวน์โหลด K-Expert Saving Memo Online ให้คุณสามารถบันทึกรายรับ-รายจ่ายเพื่อเป็นการฝึกวินัยการออมอีกด้วย
ค่าย AIA เขาก็ไม่น้อยหน้า พัฒนา interactive tool ที่ชื่อว่า AIA online advisor เป็นโปรแกรมที่ทำให้คุณสามารถตรวจเช็คสุขภาพการเงินใน 5 รูปแบบ (เช็คหลักประกันของครอบครัว, ตรวจสอบค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอุบัติเหตุและสุขภาพ, คำนวณเงินออมเพื่อการศึกษา เพื่อการเกษียณอายุ รวมถึงการออมระยะสั้นเพื่อซื้อทรัพย์สินหรือใช้จ่ายตามประสงค์) แถมยังมีแบบทดสอบประเมินความเสี่ยงในการเป็นโรคร้ายแรง 4 ชนิด (กลุ่มโรคมะเร็ง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน) ให้ลองเล่นอีกด้วย
ว่าแล้วก็ลองเข้าไปเล่นซักหน่อย โดยเลือกโปรแกรมตรวจสุขภาพทางการเงินเพื่อการเกษียณ ตามคอนเซปต์แก่แล้วต้องไม่อดตาย พอใส่ข้อมูลลงไป ขอไม่เปิดเผยว่าตอนนี้อายุเท่าไหร่ มีทรัพย์สินอยู่เท่าไหร่ (กลัวสรรพากรจะมาเล่นงานเอาน่ะ โทษฐานรวยผิดปกติ) แต่พอเราระบุว่าจะเกษียณอายุตอนอายุ 55 ปี อยากมีเงินใช้เดือนละ 30,000 บาท กะว่าจะอยู่จนถึงอายุ 75 ปี หลงจ้งคือเราต้องมีเงินเก็บสะสมถึง 7,200,000 บาท OMG และถ้าเอาเงินจำนวนนี้หักกับเงินสะสมที่มีอยู่ในปัจจุบัน มันก็จะคำนวณออกมาให้เสร็จสรรพว่าเราควรจะต้องออมอีกเดือนละเท่าไหร่จึงจะสามารถใช้ชีวิตได้ตามที่เรากำหนดไว้ ถ้าคุณอยากรู้ว่าเงินสะสมที่มีอยู่จะพอเลี้ยงคุณไหวมั๊ยในยามแก่เถ้า ลองทำแบบทดสอบนี้ดูครับ ตกใจตอนนี้ดีกว่าใจหายตอนหมดแรงทำมาหากินนะครับ
อีกแบบทดสอบนึงก็น่าสนใจดี ผมเลือกประเมินความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน เพราะคุณพ่อมีโรคประจำตัวนี้อยู่ ก็เลยแอบเสียวว่ากรรมพันธุ์มันจะเล่นงานเอา ผมเริ่มกรอกข้อมูลส่วนตัว เช่น อายุ น้ำหนัก ส่วนสูง รอบเอว พฤติกรรมการกินผัก การออกกำลังกาย และประวัติของคนในครอบครัว อะไรประมาณนี้ พอคลิ๊กดูคำทำนาย เห็นผลลัพธ์แล้วค่อยโล่งอกหน่อย เพราะ AIA online advisor บอกว่าเราเป็นคนมีความเสี่ยงน้อย รู้อย่างนี้ค่อยมีแรงชวนชิมกินต่อไป 555
มีอีกตั้งหลายเครื่องมือที่น่าลองเล่น โปรแกรมนี้เข้าใจง่าย แถมยังสนุกดีอีกด้วย ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม ให้ตั้งสติเอาไว้ แก้ตัวใหม่ด้วยการปรับวิถีชีวิต และเริ่มวางแผนการเงินอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้ครับ
อิสรภาพทางการเงิน
ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว พูดถึงเรื่องเก็บเงิน เก็บทอง ประหยัดภาษีแล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะพูดถึงเรื่องนี้ คำว่า “อิสรภาพทางการเงิน” หรือ Financial Freedom คำนี้ถูกพูดถึงมากในยุคที่เพื่อนๆ รอบตัวเรากลายเป็นมนุษย์ MLM กันไปซะหมด ถ้าหากคุณได้ยินเสียงคำเชื้อชวนไปทานข้าว หรือไปร่วมลงทุนทางธุรกิจแบบมีเงื่อนงำ ให้พึงคิดไว้ว่าเพื่อนคนนั้นมีเจตนาแอบแฝงอยู่ คือจู่ๆ ก็บอกว่าคิดถึงทั้งๆ ที่ไม่เคยติดต่อมานานนับสิบปี จะชวนร่วมหุ้นทำธุรกิจทั้งทีก็เริ่มต้นด้วยการทำผิดศีลซะละ (มุสาวาทา) ถึงยังไงก็ต้องยอมรับนะครับว่ามีหลายคนที่ค้นพบอิสรภาพทางการเงินจากอาชีพนี้ มันเป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจมากๆ หากคนๆ นั้นจะประสบความสำเร็จได้โดยไม่ต้องเสียเพื่อนไปเพียงเพราะบ้ากับคำว่าอิสรภาพทางการเงินมากจนสูญเสียอิสรภาพความเป็นตัวของตัวเอง
หัวใจสำคัญของการจะมีอิสรภาพทางการเงินนั้นคือความสามารถในการสร้างรายได้จากสินทรัพย์ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ที่หนังสือของ Robert Kiyosaki ขายดีก็เพราะคนส่วนใหญ่คิดอยากรวยแบบไม่ต้องทำงาน(หนัก) แน่นอนคงไม่มีใครอยากเป็นลูกจ้างกินเงินเดือนไปตลอดชั่วชีวิต (Employee) คงไม่มีใครอยากมีธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีเวลาพักผ่อน (Self-employed) คงไม่มีใครอยากเป็นนักลงทุนที่คอยหวาดผวาว่าหุ้นจะร่วงขึ้นมาเมื่อไหร่ (Investor) การจะเป็นเจ้าของกิจการ (Business Owner) โดยให้ระบบงานหรือเงินทำงานแทนเรานั้นไม่ได้เกิดจากคิดรวยทางลัด แต่เกิดจากการวางแผนชีวิตอย่างเป็นระบบ ลงทุนและลงแรงอย่างต่อเนื่อง เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในระยะยาว (บังเอิญผมไปเจอบทความที่ Mr.Messenger เคยเขียนไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้พอดี เลยขออนุญาตแปะลิงค์ให้ตามไปอ่านกันครับ อิสรภาพทางการเงิน แบบเข้าใจง่าย)
บ่อยครั้งที่คำว่าอิสรภาพทางการเงินนั้นมักถูกโยงไปถึงการสร้าง Passive Income มันเป็นการสร้างรายได้ชนิดหนึ่งโดยไม่ต้องลงแรงมากเหมือนงานประจำ แต่เป็นการลงทุนเพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในระยะยาวโดยให้ระบบงานทำเงินให้เรา ก่อนอื่นคุณต้องทำความเข้าใจก่อนนะครับว่า ลึกๆ แล้วหลายคนอยากรวย และอยากรวยแบบขี้เกียจซะด้วย คือไม่ต้องออกแรงเยอะ อะไรงี้ นี่ไงครับที่ทำให้คนทั่วบ้านทั่วเมืองติดการพนัน หวยใต้ดิน และหวยชาเขียวกันยกใหญ่ เพียงเพราะคิดว่าความร่ำรวยนั้นสามารถเกิดขึ้นได้เพียงชั่วข้ามคืน โดยส่วนตัว ผมมีความเชื่อว่า “ไม่มีอะไรที่ได้มาโดยง่ายแล้วอยู่อย่างยั่งยืน” น้อยคนนักที่รวยได้โดยไม่ต้องลงทุน น้อยคนนักที่จะสบความสำเร็จโดยไม่เคยล้มเหลวมาก่อน ฉะนั้นอย่าคิดว่าการเลิกทำงานประจำ หรือเลิกทำธุรกิจของตัวเองแล้วหันออกมาเล่นหุ้นเป็นอาชีพ ตามล่าหาดาวน์ไลน์จากการขายเครื่องสำอางอาหารเสริมจะทำให้ชีวิตคุณพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ ก่อนคิดจะมีอิสรภาพทางการเงินคุณควรเข้าใจ 5 สิ่งนี้ก่อนครับ
1. เป้าหมายที่ชัดเจนคือเข็มทิศนำทางชีวิต (Life Goal) : คนเรามีเป้าหมายในชีวิตไม่เหมือนกัน บางคนอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง อยากมีบ้านเป็นของตัวเอง อยากใช้ชีวิตสบายๆยามเกษียณ ถ้าคุณกำหนดไลฟ์สไตล์ตัวเองได้ คุณก็จะรู้เองว่าควรทำอย่างไรให้มีในสิ่งที่ตัวเองตั้งเป้าหมายไว้
2. ใช้ให้น้อยกว่าที่หามาได้ โลภมากจะยากนาน (Saving): ต่อให้รวยขนาดไหน ถ้าใช้เงินมากกว่าที่มีย่อมจนได้พริบตา ต่อให้จนขนาดไหน ถ้าอยู่ได้โดยไม่มีหนี้ แถมยังรู้จักเก็บรอมหอมริบ สักวันหนึ่งคุณก็สามารถรวยได้เช่นกัน เพียงแต่รวยนี้ต้องลงแรงและใช้เวลา ไม่ใช่รอโชคช่วย ฉะนั้นต่อให้คุณมี Passive Income มากแค่ไหนก็ตาม อย่าใช้เงินเพลินจนลืมเนื้อลืมตัว ไลฟ์สไตล์ที่ดีไม่ได้เกิดจากความสามารถในการหาเงินมาปรนเปรอสนองกิเลสตัวเองอย่างไม่จำกัด หากแต่เกิดจากการใช้เวลาให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นต่างหาก
3. ใช้เงินต่อเงิน ลงทุนให้เงินมันงอกเงย (Investment): การออมช่วยให้เรามีกระแสเงินสดไว้ใช้ยามฉุกเฉิน ส่วนการลงทุนคือยอมรับความเสี่ยงที่อาจช่วยทำให้เงินงอกเงยเพิ่มมูลค่า แต่อย่าเอาไข่ทุกใบไปใส่ไว้ในตะกร้าใบเดียวกัน การไม่เสี่ยงเลยคือเท่าทุนหรือบางครั้งก็อาจขาดทุนด้วยซ้ำ เสี่ยงมากก็มีสิทธิ์ขาดทุนหรือถึงขั้นล้มละลาย ฉะนั้นเราควรกำหนดความเสี่ยงที่เราพอรับได้ แล้วไปลงทุนในสินทรัพย์ กองทุน หรือในธุรกิจที่เรามีความเชี่ยวชาญ
4. หนทางสู่ความรวยคือรักในสิ่งที่ตัวเองทำ (Passion): การทำงานเป็นลูกจ้างกินเงินเดือน (Employee) และเป็นเจ้าของกิจการ (Self-employed) เป็นงานที่เหนื่อยก็จริง แต่มันก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเติบโตในอนาคต นั่นคือการผันตัวเองเข้าสู่การเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ (Shareholder) หรือนักลงทุน (Investor) ผมไม่ขอตอบว่าเป็นอย่างไหนดีที่สุด สบายที่สุด เพราะไม่ว่าเราจะเลือกเป็นอะไร ถ้าเราทำสิ่งนั้นได้ดีกว่าคนทั่วไปเราก็สามารถประสบความสำเร็จได้ไม่แพ้กัน หากคุณเป็นผู้ถือหุ้นที่จ้องเอาแต่ผลประโยชน์เข้าตัวเอง โดยไม่คิดถึงหัวอกคนทำงาน อิสรภาพที่คุณได้มามันคือการขังคนอื่นไว้ในกรงแทนคุณ จงสุขจากการทำงาน และทำให้คนอื่นสุขจากการมีงานทำ ระบบงานและระบบคนที่ดีจะช่วยบริหารเงินและงานแทนคุณเอง
5. ควรรู้จักอิสรภาพในการใช้ชีวิตก่อนที่จะมีอิสรภาพทางการเงิน (Life Freedom): อย่าให้ใครมาบอกคุณว่าอิสรภาพทางการเงินของคุณอยู่ที่ไหน คุณจะต้องรวยเท่านั้นเท่านี้ถึงจะมีอิสรภาพ เป้าหมายในชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพียงแค่สะกดคำว่า “พอ” เป็น คุณก็มีอิสรภาพแล้วล่ะครับ อย่ารอให้มีเงินเป็นหลักร้อยล้านพันล้านแล้วจึงค่อยมีความสุขกับการใช้ชีวิต ก่อนจะมีอิสรภาพทางการเงิน คุณควรหันมาปลดปล่อยตัวเองออกจากพันธนาการทั้งปวงให้ได้ก่อน เมื่อไม่รู้สึกติดค้างกับใคร ไม่รู้สึกเสียดายที่ยังไม่ได้ทำอะไร แค่นี้อิสรภาพก็มาปรากฎอยู่ตรงเบื้องหน้าแล้ว
เอาล่ะครับเมื่อมี Mindset ที่ตรงกันแล้ว ขอแนะนำเพิ่มเติมกับ 8 เรื่องการเงินที่คุณควรรู้เพื่อให้คุณมีอิสรภาพทางการเงินในที่สุด
ผมเองก็ทำงานหนักมาทั้งชีวิตในฐานะลูกจ้างกินเงินเดือน ตอนนี้ผันตัวมาเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัว ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ทั้งในเรื่องงานและกิจกรรมส่วนตัว ชีวิตมันเลยลงตัวโดยไม่ต้องไปเบียดเบียนใครๆ โชคดีที่รู้จักเก็บรอมหอมริบตั้งแต่เริ่มทำงาน มีสินทรัพย์และเงินลงทุนเก็บไว้พอประมาณไว้ยามเกษียณ ผมกล้าบอกได้เลยว่าผมเพิ่งจะสะกดคำว่า “อิสรภาพ” เป็นก็ตอนที่รู้จักปล่อยวาง คุณเองก็ทำได้…ขอเพียงคุณตั้งใจฟังเสียงหัวใจของคุณเอง ทำในสิ่งที่คุณรักและถนัดให้ดีที่สุด แม้มันจะไม่สมบูรณ์แบบ แต่ความสุขนั้นมันเป็นความสุขที่คุณสามารถสัมผัสได้โดยไม่ต้องรอวันพรุ่งนี้
ก่อนจบบทความอันแสนจะยืดยาวนี้ ขอฝากข้อคิดจากอภิมหาเศรษฐีอย่าง Warren Buffet ให้คุณได้ทบทวนกันอีกครั้ง
- On Earning: Never depend on single income, Make investment to create a second source อย่าพึ่งพารายได้จากทางเดียว จงลงทุนเพื่อให้เกิดแหล่งรายได้แหล่งใหม่ขึ้นมา
- On Spending: If you buy things you do not need, soon you will have to sell things you need ถ้าคุณซื้อของที่คุณไม่ต้องการ ในไม่ช้าคุณอาจต้องขายสิ่งของที่คุณต้องการออกไป
- On Savings: Do not save what is left after spending, but spend what is left after saving อย่าออมจากสิ่งที่เหลือจากการใช้จ่าย ให้ใช้จ่ายจากสิ่งที่เหลือจากการออม
- On Investment: Do not put all eggs in one basket ในการลงทุน อย่าใส่ไข่ทุกฟองอยู่ในตะกร้าใบเดียวกัน
ที่มา http://www.somchartlee.com/tax-saving/