ซื้อประกันกับใคร ปลอดภัยที่สุด



สวัสดีปีใหม่ครับทุกคน! เริ่มต้นปีแบบนี้ ใครกำลังมองหาประกันชีวิตที่เหมาะสมมาใช้เพื่อตอบโจทย์เรื่องการบริหารความเสี่ยง แถมยังได้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีด้วย ถ้าได้ศึกษาแนวทางการเลือกซื้อประกันที่เหมาะสม และให้คุ้มค่ามากที่สุด ตามโพสที่ผมเคยเขียนไป แต่ยังอาจจะเกิดคำถามสุดท้ายขึ้นว่า “แล้วฉันจะไปซื้อกับใครดี ถึงจะไว้ใจได้มากที่สุด??” นั่นน่ะสิ จะซื้อกับใครถึงจะปลอดภัยสุดล่ะ? รู้ๆกันอยู่ว่าทุกวันนี้คนเราก็รู้หน้าไม่รู้ใจ ไว้ใจใครไม่ค่อยจะได้ ยิ่งในวงการประกันยิ่งยาก เจอแต่พวกมาหวังยอดหวังผลประโยชน์ ทริคกี้ พูดไม่หมด หมกเม็ดข้อมูล ไม่ก็ขายเสร็จแล้วก็สะบัดตูดหายต๋อม ไม่รับผิดชอบ จนมีดราม่าเยอะแยะมากมาย แล้วฉันจะวางใจใครได้ ก่อนอื่น เรามาลองดูกันดีกว่าว่า ปัจจุบันช่องทางการซื้อประกันชีวิต มีช่องทางไหนบ้าง และแต่ละช่องทางมีข้อดีข้อเสียอะไร ก่อนที่เราจะตัดสินใจ 1. ผ่านตัวแทนประกัน ข้อดี – ถ้าได้ตัวแทนที่ดี ก็จะมีคนดูแลเรื่องประกันไปตลอด ไว้คอยสอบถามเอาความรู้ คอยบริการเวลามีเรื่องต้องเคลม ให้คำแนะนำเรื่องประกันที่เหมาะสมกับเราได้
– มีสินค้าประกันส่วนบุคคลให้เลือกทุกประเภท ทั้งประกันชีวิต(ทุกแบบ) ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ และประกันกลุ่ม ข้อเสีย – ถ้าไปหลงเชื่อตัวแทนที่ไม่ดี ก็อาจจะทำประกันไม่เหมาะสม (จ่ายเบี้ยมากไป คุ้มครองน้อยไป จัดให้ไม่ตรงความจำเป็นของชีวิต) ทำให้กระทบการเงินด้านอื่นๆได้ – ตัวแทนอาจจะไม่มีความรับผิดชอบ ขายเสร็จได้ค่าคอมฯแล้วหายต๋อม – แนะนำประกันได้แค่เจ้าเดียว คือเฉพาะบริษัทที่ตัวเองสังกัด ซึ่งประกันบางตัวอาจจะสู้เจ้าอื่นไม่ได้ คำแนะนำ : ยังคงเป็นช่องทางที่ดี แต่ต้องใช้ความระมัดระวังค่อนข้างสูง 2. ผ่านธนาคาร ข้อดี – ซื้อง่าย สะดวก ตามสาขาธนาคารทั่วไป ข้อเสีย – พนักงานขายเป็นพนักงานแบงค์ ไม่ใช่ตัวแทน จึงแทบไม่มีความรู้เรื่องประกันชีวิตหรือหลักการคุ้มครองความเสี่ยง รวมถึงเงื่อนไขต่างๆในการทำประกันเลย (มีหน้าที่อธิบายแบบตามโบรชัวร์อย่างเดียว) – ประกันที่ขายส่วนใหญ่มักเป็นแบบสะสมทรัพย์ ซึ่งอาจจะไม่ตอบโจทย์เรื่องความคุ้มครองชีวิตหรือด้านอื่นๆ (คือจริงๆมีทุกแบบ แต่พนักงานขายเป็นแต่แบบสะสมทรัพย์) – ไม่มีที่ปรึกษาหรือคนที่คอยบริการเรื่องประกันเป็นการส่วนตัวเหมือนตัวแทน เพราะคนขายเป็นพนักงานแบงค์ ตามไปดูแลส่วนตัวไม่ได้ (นั่นคือสาเหตุว่าทำไมถึงเน้นขายสะสมทรัพย์ เพราะไม่ต้องดูแล) คำแนะนำ : เหมาะสำหรับเฉพาะคนที่ตั้งใจเดินไปซื้อแบบสะสมทรัพย์ด้วยตัวเอง 3. ผ่าน tele sale ข้อดี – ซื้อง่าย แค่บอกข้อมูลส่วนตัว หรือแจ้งแบบประกันที่ต้องการซื้อ ก็ซื้อได้เลย ข้อเสีย – ก็เพราะมันง่ายไปนี่แหละ มันถึงเสี่ยง เพราะอาจได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน ทำให้เกิดความไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิด – พนักงาน tele sale ไม่ได้เป็นผู้ที่รู้จริงรู้ลึกในเรื่องประกันชีวิต และอาจบอกข้อมูลไม่ครบถ้วน – ไม่มีคนคอยดูแลและบริการหรือให้คำปรึกษาเรื่องประกันเป็นการส่วนตัว – ประกันชีวิตบางประเภท ไม่สามารถขายผ่าน tele sale ได้ (และบางประเภทขายเฉพาะ tele sale เช่น ประกันชีวิตของผู้สูงวัย) คำแนะนำ : เสี่ยงเกินไป ไม่เหมาะกับการซื้อประกันชีวิตในเชิงลึก 4. ผ่านหน้าเว็บไซต์ของบริษัทประกันโดยตรง ข้อดี – Non-Bias ไม่มีอคติในการแนะนำประกัน (เพราะเว็บไซต์ไม่ได้ค่าคอมฯ อิอิ) – ง่าย สะดวก และมีโปรแกรมช่วยคำนวณตัวเลขคร่าวๆ + ช่วยจัดแบบประกันที่เหมาะกับความต้องการได้ระดับหนึ่ง – ซื้อได้หลายบริษัท สามารถเปรียบเทียบด้วยตัวเองได้ จะซื้อประกันสุขภาพจากบ.A ประกันสะสมทรัพย์จากบ.B ก็ได้ ข้อเสีย – ประกันบางประเภทซื้อผ่านเว็บไซต์ไม่ได้ (เพราะต้องการข้อมูลเชิงลึก เช่นแบบควบการลงทุน) – ต้องศึกษาหาข้อมูล ศึกษาเงื่อนไขต่างๆด้วยตัวเอง – ไม่มีคนคอยดูแลและบริการหรือให้คำปรึกษาเรื่องประกันเป็นการส่วนตัว คำแนะนำ : ถ้าคิดว่าตัวเองมีความรู้เรื่องประกันดีในระดับหนึ่งก็คลิกเข้าไปซื้อเองได้เลย สบายใจดี 5. ผ่านบริษัทนายหน้าประกันชีวิต (note : นายหน้าต่างจากตัวแทนคือ ตัวแทน จะทำหน้าที่เสมือนเป็นบ.ประกัน มีความรู้เรื่องประกันในเชิงลึก วางแผน จัดแบบประกันให้ได้ แต่ นายหน้า ส่วนใหญ่จะเหมือนเป็นแค่คนกลาง ในการนำสินค้าประกันของแต่ละที่ มาให้ลูกค้าได้เลือกซื้อเองเฉยๆ) ข้อดี – มีประกันให้เลือกหลายที่ จึงปราศจากอคติที่จะแนะนำเฉพาะเจ้าใดเจ้าหนึ่ง – มีประกันให้เลือกทุกแบบ ไม่เฉพาะแค่ประกันชีวิต – สามารถแนะนำประกันตัวเด่นๆของแต่เจ้าได้ – บ.นายหน้าบางแห่งก็อาจจะบริการเวลามีเคลมให้เหมือนตัวแทน ข้อเสีย – ส่วนใหญ่บ.นายหน้าจะขาดความรู้และหลักการในการวางแผนประกันชีวิตในเชิงลึก – หายาก มีน้อย คนส่วนใหญ่ไม่รู้ช่องทาง คำแนะนำ : ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ แต่ช่องทางยังน้อยอยู่ 6. ผ่านที่ปรึกษาทางการเงิน/นักวางแผนทางการเงินอิสระ ข้อดี – ได้ประกันที่ตอบโจทย์ ตรงตามความเหมาะสมกับชีวิตเราจริงๆ และมีการมองภาพรวมทางการเงินไว้ทุกด้าน ทำให้เป็นการบริหารเงินที่มีประสิทธิภาพกว่าช่องทางอื่นๆ – อาจจะมีความเป็นกลางมากกว่าตัวแทนเพราะต้องวางแผนเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายลูกค้าเป็นหลัก – มีคนดูแลในระยะยาว เช่นเดียวกับตัวแทน แต่ได้รับการดูแลเรื่องการเงินในด้านอื่นๆด้วย เช่นด้านการลงทุน การบริหารเงินต่างๆ ข้อเสีย – จริงๆไม่เชิงเป็นข้อเสีย แต่เป็นข้อพิจารณาหนึ่งมากกว่า คืออาจจะมีการเรียกเก็บค่าที่ปรึกษาหรือค่าทำแผนการเงินด้วย – หาที่ปรึกษา/นักวางแผน ทางการเงินมืออาชีพจริงๆได้ยาก ส่วนใหญ่ยังเน้นขายสินค้ามากกว่าเน้นกระบวนการวางแผน – ช่องทางการใช้บริการอาจจะยังไม่เปิดกว้างมากนัก ไม่รู้ว่าที่ไหนพอจะไว้ใจได้มั่ง คำแนะนำ : เป็นทางเลือกที่ดีมากกว่าตัวแทน แต่หาคนที่เก่งและดีจริงๆยาก (อาจจะดูจากคนที่มีคุณวุฒิไว้ก่อน เช่น CFP, AFPT, FChFP) สรุป : สุดท้ายก็ไม่มีทางเลือกไหนที่ดีที่สุดอย่างชัดเจน เพราะแต่ละช่องทางก็มีข้อดีข้อเสียต่างกัน แต่ช่องทางที่น่าจะตอบโจทย์คนส่วนใหญ่มากที่สุด ผมยังคิดว่าน่าจะเป็นช่องทางตัวแทนประกันชีวิตโดยตรง และช่องทางนักวางแผนทางการเงิน ซึ่งปัจจุบันตัวแทนประกันชีวิตหลายๆคนก็ได้พัฒนาตัวเองมาเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน มีความรู้ มีหลักการ ในการให้คำแนะนำทางการเงินที่ตอบโจทย์ชีวิตเรามากขึ้น ก็น่าจะช่วยให้คำแนะนำเรื่องประกันชีวิตได้เหมาะสม ตอบโจทย์และคุ้มค่ากับชีวิตเรา ได้มากกว่าช่องทางอื่นๆ รวมถึงมีคนไว้คอยให้คำปรึกษา คอยดูแลให้บริการเราได้ อย่างไรก็ตาม สำคัญที่สุดก็คือ “ตัวเราเอง” ที่ต้องมีความรู้เรื่องประกันชีวิตให้ดีในระดับหนึ่ง เพื่อให้รู้เท่าทันคนขายหรือคนที่แนะนำ จะได้สามารถเลือกตัวแทนหรือนักวางแผนที่น่าไว้ใจได้มากที่สุด หรือสอบถามขอคำแนะนำจากเพื่อนๆหรือคนรู้จัก ให้แนะนำตัวแทนหรือนักวางแผนให้ อย่างน้อยก็มีคนช่วยคัดกรอง หรือการันตีมาแล้วในระดับหนึ่ง ส่วนใครที่คิดว่า ตัวเองมีความรู้เรื่องวางแผนประกัน เข้าใจหลักการทำประกันเป็นอย่างดี และไม่ต้องการให้ใครมาบริการแล้ว ก็อาจะเลือกซื้อเองจากหน้าเว็บไซต์ หรือจากนายหน้าประกันชีวิตเลยก็ได้ครับ ^^ เครดิต : http://www.aommoney.com/